วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

อุกกาบาต (Meteor)

อุกกาบาต (Meteor)







        การศึกษาอุกกาบาตช่วยให้มนุษย์ได้สืบค้นถึงประวัติความเป็นมาของโลกดาวเคราะห์ดวงพิเศษสุดที่เราถือกำเนิดและอาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ได้ดีขึ้นในบางคืนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใส เราอาจเห็นแสงวูบวาบตกลงมาจากฟากฟ้าเรียกกันว่าดาวตกหรือผีพุ่งไต้แต่ความจริงดาวตกเป็นวัตถุแข็งจำพวกหินหรือเหล็กตกเข้าสู่เขตบรรยากาศโลกด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงแรงเสียดสีกับบรรยากาศทำให้ร้อนจัดหลอมตัวเป็นลูกไฟสว่างมีควันเป็นทางยาว หากวัตถุชิ้นเล็กจะลุกไหม้สว่างกลายเป็นไอสลายไป หมด แต่บางก้อนที่มีขนาดใหญ่จะมีเสียงดังคล้ายเสียงยิงปืนหรือเสียงฟ้าผ่าเมื่อวิ่งผ่านอากาศตกลงมา และหากสลายตัวไม่หมด มักเหลือซากตกลงถึงพื้นโลก เรียกว่า ลูกอุกกาบาต มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน ตั้งแต่น้ำหนักเพียงไม่กี่กรัมจนถึงก้อนหนึ่งหนักหลาย ๆ ตัน 

          อุกกาบาตแบ่งตามลักษณะเนื้อในเป็น 3 แบบ คือ อุกกาบาต ชนิด หิน เหล็ก และ เหล็กปนหิน ส่วนใหญ่ ที่พบเป็นอุกกาบาต ชนิดหิน ก้อนใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ จีหลิง (Jiling) ตกที่อำเภอจีหลิง ประเทศจีน เมื่อ 8 มีนาคม 2519 หนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่สุดที่ค้นพบคือ โฮบา เวสท์ (Hoba West) ปริมาตรราว 9 ลูกบาศก์เมตร หนักประมาณ 66 ตัน ตกกลางป่า ในอัฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ 

   อุกกาบาตชนิดหินส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนหินบนโลก และมักสลายตัวเพราะลมฟ้าอากาศ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเป็นลูกอุกกาบาต การวิเคราะห์ทำได้โดยตัดผิวอุกกาบาตให้เรียบ ขัดมันแล้วใช้กรดอย่างอ่อนกัด พบโครงสร้างรูปผลึกปรากฏเห็นชัดบนผิวเรียบนั้น ซึ่งเป็นลักษณะ เฉพาะตัวของอุกกาบาต

   อุกกาบาตขนาดใหญ่ที่พุ่งชนโลกอย่างแรง ทำให้เกิดหลุมลึกบนพื้นโลกเรียกว่า เครเตอร์ หลุมอุกกาบาตใหญ่ที่สุดบนโลก คือ หลุมแบริงเยอร์ ในรัฐอะริโซนา สหรัฐอเมริกา คาดว่า เกิดจากอุกกาบาตชนิดเหล็กหนักถึง 1 ล้านตัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ตกกระแทก พื้นโลกเป็นหลุมมหึมา ปากหลุมกว้าง 1,200 เมตร ลึก 170 เมตร ความลึกเท่ากับตึกสูง 40 ชั้นทีเดียว หลุมแบริงเยอร์อายุประมาณ 22,000 ปี



อุกกาบาตตกในประเทศไทย

- ลูกอุกกาบาตนครปฐม ตกที่ตำบลดอนยายหอม เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2466 แตกเป็น 2ก้อนใหญ่ น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน ตั้งแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ 


 - ลูกอุกกาบาตเชียงคาน ตกที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2524 เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัตถุจากกระแสธารอุกกาบาต ที่เป็นซากเหลือจาก ดาวหางเทมเพล (Tempel ) ที่โลกโคจรตัดผ่านธารอุกกาบาตในช่วงนั้น เป็นประจำทุกปี จึงทำให้เกิดเป็น ฝนดาวตก หรือ ฝนอุกกาบาต ให้เห็นในระยะนั้น มีสมมุติฐานอธิบายกำเนิดของอุกกาบาต ว่าน่าจะมาจากแถบของดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่าง วงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี หรืออาจ มาจากดาวหางที่โคจรอยู่ในระบบสุริยะ นอกจากนั้นยังพบอุกกาบาตบางก้อนมีองค์ประกอบ เช่นเดียวกับหินจากดวงจันทร์และหินจาก ดาวอังคารด้วย

        อุกกาบาตเป็นวัตถุฟากฟ้าที่สำคัญยิ่งในทางดาราศาสตร์ เพราะนอกจากโลกของเราแล้ว อุกกาบาตเป็นสมาชิกในระบบ สุริยะที่ตกผ่านเข้ามาบนโลกให้มนุษย์ได้มีโอกาสจับต้อง และศึกษาค้นคว้าได้โดยตรง 


       การตรวจสอบพบว่าลูกอุกกาบาตส่วนใหญ่ประกอบด้วยเหล็ก นิเกิล และแร่ธาตุที่ตรวจพบได้บนโลก จึงสรุปได้ว่าสมาชิก ของระบบสุริยะทั้งปวงประกอบขึ้นจากวัตถุชนิดเดียวกันและเมื่อสืบค้นถึงอายุของลูกอุกกาบาต โดยการตรวจสารกัมมันตรังสี พบว่าลูกอุกกาบาต มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับอายุของโลก


       การศึกษาลูกอุกกาบาตจึงจะช่วยให้มนุษย์ได้สืบค้นถึงประวัติความเป็นมาของโลก ดาวเคราะห์ ดวงพิเศษสุดที่เราถือกำเนิดและอาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ได้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น