วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

ดาวหาง(comets)

ดาวหาง(comets)







กำเนิดและลักษณะทั่วไปของดาวหาง 

         นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวหางเป็นซากวัตถุดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่จากสมัยเมื่อระบบสุริยะ ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว และเป็นบริวารอย่างหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ 



ประวัติความเป็นมา

           ในปี พ.ศ.2493 นักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ แจน ออร์ด ( Jan Oort ) เป็นผู้เสนอทฤษฎีว่า 
ต้องมีแหล่งที่อยู่ของดาวหางจำนวนหลาย ๆ ล้านดวงอยู่ไกลเลยจากดาวเคราะห์ดวงนอก ของระบบสุริยะออกไป โดยห่างจากดวงอาทิตย์ราว 30,000 หน่วยดาราศาสตร์ จนถึง 1 ปีแสง หรือไกลกว่านั้น จึงเรียกถิ่นที่อยู่ของดาวหางตามความคิดนี้ว่า ดงดาวหางออร์ด(The Oort Cloud)



ลักษณะทั่วไปของดาวหาง 

           ขณะเมื่ออยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ดาวหางคล้ายก้อนน้ำแข็งสกปรกของหินและฝุ่นเกาะกัน อยู่ด้วยก๊าซและน้ำที่แข็งตัว โดยทั่วไปแล้วดาวหางมีขนาดใหญ่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ดาวหางเริ่มอุ่นขึ้น น้ำแข็งรอบนอกระเหิดกลายเป็นก๊าซและฝุ่น เกิดกลุ่มเมฆก๊าซ เป็นบรรยากาศห่อหุ้มขนาดใหญ่ มากจนสามารถครอบคลุมโลกทั้งดวงได้ เรียกว่า โคมา หรือ
หัวดาวหาง ล้อมรอบ นิวเคลียส หรือ ใจกลางหัวดาวหาง ซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งในใจกลางและมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น 


         นอกจากลมสุริยะและรังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดโคมาขนาดใหญ่แล้วยังทำให้หางดาวหางพัดกระพือออกไปเป็นลำยาว ดวงหางบางดวง อาจมีหางยาวเป็นหลายล้านกิโลเมตร และแม้ว่าดาวหางจะมีทิศทางเคลื่อนที่ไปอย่างไรก็ตาม
แต่หางของดาวหางจะหันหนีออกจากดวงอาทิตย์เสมอ เราเห็นดาวหางสว่างขึ้นได้เพราะส่วนที่เป็น อนุภาคของแข็งและ
ฝุ่นสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์กับทั้งอนุภาคก๊าซที่มีประจุไฟฟ้าในหางดาวหางดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์เรืองแสงขึ้น



โครงสร้างของดาวหาง 

 - นิวเคลียส เป็นใจกลางหัวดาวหาง ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ จำพวก คาร์บอน ( C )ไฮโดรเจน (H) อ๊อกซิเจน (O ) และ ไนโตรเจน (N ) รวมตัวกัน 
โดยมีน้ำ เป็นองค์ประกอบสำคัญ นอกจากนั้น ยังมีฝุ่นของซิลิกอน แมกนีเซียม และธาตุหนักอื่น ๆ ฝุ่นเหล่านี้รวมตัวกับน้ำแข็งอัดแน่นอยู่ด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นนิวเคลียสสีดำเหมือนถ่าน

- โคมา เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ รังสีความร้อนทำให้น้ำแข็งบริเวณผิวของนิวเคลียส ระเหิดเป็นไอ ก๊าซและฝุ่นผงจึงขยายตัวเป็นบรรยากาศห่อหุ้มนิวเคลียสไว้กลายเป็นหัวดาวหาง เรียกว่า โคมา

-หางฝุ่น เป็นก๊าซและฝุ่นพัดกระพือออกจากหัวดาวหาง สะท้อนแสงให้เห็นเป็นหางชนิดสั้นและ มีลักษณะโค้ง มีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า แรงดันจากรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ผลัก ให้หางลู่ไปในแนวตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ


- หางก๊าซ ก๊าซในหางดาวหางทำปฏิกิริยากับลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้ก๊าซต่าง ๆ แตกตัว เป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า หรือ ไอออน เช่น อนุภาคประจุคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO+) เปล่งแสง สีน้ำเงินในหางก๊าซเคลื่อนที่หนีออกจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที หางก๊าซ มีลักษณะเหยียดตรง และยืดยาวออกไปหลายล้านกิโลเมตร 



วงโคจรของดาวหาง

      ดางหางส่วนใหญ่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีสูงและวงโคจรใหญ่มาก เรามีโอกาสเห็น ดาวหางได้เฉพาะเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้ามาในเขตชั้นในของระบบสุริยะที่โลกอยู่เท่านั้น ดาวหางบางดวงมีวงโคจร ไม่ใหญ่มากนัก เราจึงเห็นดาวหางโคจรกลับมาอีก จัดว่าเป็น ดาวหางคาบโคจรสั้น ส่วนดาวหางที่มีคาบโคจร นานกว่า 200 ปี จัดให้เป็น ดาวหางคาบโคจรยาว




ตัวอย่างดาวหางดวงสำคัญ

           ดาวหางแฮลลีย์ (Halley) ดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ครบหนึ่งรอบทุกคาบประมาณ 76 ปี จากบันทึกเก่าแก่พบว่า ชาวโลกมีโอกาสสังเกตดาวหางแฮลลีย์โคจรเข้ามาแล้ว 27 รอบ ครั้งหลังสุด คือเมื่อปี พ.ศ.2529และดาวหางจะกลับมาอีกครั้ง
ต่อไปในปี พ.ศ.2604-2605




ความสำคัญของดาวหาง 

          นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวหางเป็นซากวัตถุที่เหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มีอายุมากกว่า 4,500 ล้านปี
เดินทางมาจากห้วงอวกาศแสนไกลและเย็นจัด ดาวหางจึงน่าจะ ยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่มาก อาจประกอบด้วยอินทรีย์สารที่จำเป็น
ต่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และบางที ดาวหางอาจเป็นตัวนำน้ำมายังโลกในยุคแรกเริ่มที่โลกก่อกำเนิดขึ้นก็เป็นได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น