วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2557

มาดาม มารี คูรี่(Madame Marie Curie)

มาดาม มารี คูรี่ : Madam Marie Curie



เกิด        วันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่เมืองวอร์ซอร์ (Warsaw) ประเทศโปแลนด์ (Poland)
เสียชีวิต วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 ที่กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศษ (France)
ผลงาน   - ค้นพบธาตุเรเดียม 
             - ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ.1903 จากผลงานการพบธาตุเรเดียม
             - ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.1911 จากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม


           โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโรคทั้งหมด ทั้งที่โรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ หรือโรคระบาด
ร้ายแรงอะไรเลย แต่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ สาเหตุที่ทำให้คนต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็เพราะว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยให้ลุกลามไปถึงระยะสุดท้ายแล้ว แต่ถ้าเป็นระยะแรกก็อาจจะรักษาได้ด้วยการแายรังสีเรเดียม และนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบธาตุชนิดนี้ก็คือ มารี คูรี่ ไม่เฉพาะโรคมะเร็งเท่านั้นที่เรเดียมรักษาได้ เรเดียมยังสามารถรักษาโรค
ผิวหนังบางชนิดได้ และเนื้องอกได้อีกด้วย


           มารีเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ก่อนที่เธอจะสมรสกับปิแอร์ คูรี่เธอชื่อว่า 
มารียา สโคลดอฟสกา (Marja Sklodowska) บิดาของเธอชื่อว่า วลาดิสลาฟ สโคลดอฟสกา เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ บิดาของเธอมักพาเธอไปห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วยเสมอ ทำให้เธอมีความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ต่อมารัสเซียได้เข้ามายึดโปแลนด์ไว้เป็นเมืองขึ้น อีกทั้งกดขี่ข่มเหง
ชาวโปแลนด์ และมีคำสั่งให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวเท่านั้นเพื่อป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ครอบครัวของมารีและชาวโปแลนด์ต้องได้รับความลำบากมากทีเดียว


          หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว มารีได้เข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง และรับสอนพิเศษให้กับ 
เด็ก ๆ แถวบ้าน มารีและพี่สาวของเธอบรอนยา ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนอนุบาลเช่นเดียวกัน ทั้งสองมีความตั้งใจว่าถ้าเก็บเงินได้มากพอเมื่อใดจะไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส แต่รายได้เพียงน้อยนิด ทำให้ทั้งสองต้องเก็บเงินอยู่เป็นเวลานานก็ยังไม่พอ ดังนั้นทั้งสองจึงตกลงกันว่าจะนำเงินเก็บมารวมกัน โดยให้บรอนยาไปเรียนต่อแพทย์ก่อน เมื่อบรอนยาเรียนจบ แล้วหางานทำจึงส่งมารีไป
เรียนต่อวิทยาศาสตร์บ้าง ดังนั้นบรอนยาจึงเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส (Paris University) หลังจากเรียนจบบรอนยาได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับมารี ในปี ค.ศ.1891 มารีได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยปารีส มารีต้องใช้ความอดทนและพยายามอย่างมากในการอยู่ที่ปารีส เพราะเงินที่บรอนยาส่งมาให้ใช้จ่ายน้อยมาก เพียงพอต่อค่าห้องพักและค่าอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้ามารีไม่มีเงินเหลือ
พอที่หาซื้อมาใส่ให้ร่างกายอบอุ่นได้ ทำให้เธอเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นมารีก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับการอ่านหนังสือและด้วยเหตุนี้ทำให้เธอได้มีโอกาสได้พบกับปิแอร์ คูรี่ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมห้องทดลองและอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีสด้วยความที่ทั้งสองมีชีวิตที่คล้าย ๆ กัน และมีความรักในวิชาวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน ปิแอร์และมารีตกลงใจแต่งงานกันในปี ค.ศ.1895 และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งปิแอร์เสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 จากอุบัติเหตุรถชน


         ในระหว่างนั้นมีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำการทดลองและค้นพบรังสีหลายชนิด เช่น ในปี ค.ศ.1879 วิเลี่ยม ครุกส์
(William Crooks) พบรังสีคาโทด (Cathode Ray) ในปี ค.ศ.1895 วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilheim Konrad Roentgen) ค้นพบรังสีเอกซ์ (X- ray) และอังตวน อังรี เบคเคอเรล (Anton Henri Becquere) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปิแอร์ และมาได้ค้นพบกัมมันตภาพรังสีจากแร่ยูเรเนียม จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทำให้มารีมีความคิดที่จะทดลองหากัมมันตภาพรังสีจากแร่ชนิดอื่นบ้าง การทดสอบหารังสียูเรเนียมทำได้โดยการนำธาตุมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาโรยใส่แผ่นฟิล์มถ่ายรูป แต่ต้องทำให้ห้องมืด เพื่อไม่ให้แสงโดนฟิล์ม จากนั้นจึงนำไปล้างถ้าปรากฏจุดสีดำบนแผ่นฟิล์ม 
แสดงว่าธาตุชนิดนั้นสามารถแผ่รังสีได้ นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบได้จากเครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้า (Electroscope)มารีได้ร่วมมือกับสามีของเธอคือ ปิแอร์ คูรี่ ทำการค้นหารังสียูเรเนียมจากธาตุชนิดอื่น มารีได้นำธาตุเกือบทุกชนิดมาทำการทดสอบหารังสียูเรเนียม ทั้งธาตุที่มีสารประกอบยูเรเนียมผสมอยู่ และธาตุที่ไม่มียูเรเนียมผสมอยู่ จากการทดสอบทั้งสองพบว่า ธาตุที่เป็นสารประกอบยูเรเนียมสามารถแผ่รังสียูเรเนียมได้ แต่ก็ให้กำลังน้อยมากอีกทั้งการสกัดยูเรเนียมออกมาก็ทำได้ยาก 
แต่มารีก็ยังไม่ละความพยายามเธอยังค้นหาและแยกธาตุชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย มารีใช้เวลานานหลายปีในการทดสอบแร่ และในที่สุดเธอก็พบว่าในแร่พิทซ์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม และสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า แต่การที่แร่พิทซ์เบลนด์สามารถแผ่รังสีได้ น่าจะมีธาตุชนิดอื่นผสมอยู่ มารีตั้งชื่อธาตุชนิดนี้ว่า เรเดียม (Radium)


         มารีได้นำผลงานการค้นพบธาตุเรเดียมมาทำวิทยานิพนธ์สำหรับรับปริญญาเอก เมื่อคณะกรรมการพิจารณารายงานของเธอ พร้อมกับซักถามเกี่ยวกับรายงานอย่างละเอียด คณะกรรมการได้ลงมติให้รายงานของเธอผ่านการพิจารณา ทำให้เธอได้รับปริญญา
เอกจากผลงานชิ้นนี้เองปิแอร์ และมารีได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรเดียมต่อไปเพื่อแยกธาตุเรเดียมออกจากแร่พิทซ์เบลนด์ให้ได้แต่ทั้งสองก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ห้องทดลองที่คับแคบ อีกทั้งเครื่องมือในการทดลองก็เก่า และล้าสมัย รวมถึงในขณะนั้น มารีได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก ทำให้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย แต่ทั้งสองก็ยังคงพยายามแยกเรเดียมให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างที่ทางมหาวิทยาลัยปารีสได้อนุญาตให้ทั้งสองใช้ห้องหนึ่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับห้องทดลองเป็นสถานที่แยกเรเดียมได้


         ดังนั้นในปี ค.ศ.1898 ทั้งสองจึงเริ่มทำการค้นคว้าหาวิธีแยกเรเดียมอย่างจริงจัง โดยมารีได้สั่งซื้อเรเดียมจากออสเตรีย
จำนวน 1 ตัน เพื่อใช้สำหรับการทดลอง ทั้งสองพยายามแรกแร่เรเดียมด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี เช่น ใช้สารเคมี บดให้ละเอียดแล้วนำไปละลายน้ำ แยกด้วยไฟฟ้าและใช้เครื่องแสดงกำลังประจุไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น ในที่สุดทั้งสองก็พบวิธีการแยกเรเดียมบริสุทธิ์ ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1902 และเรียกเรเดียมบริสุทธิ์นี้ว่า "เรเดียมคลอไรด์ (Radium chloride)" เรเดียมบริสุทธิ์นี้สามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึง 2,000,000 กว่าเท่า ในขณะที่แร่ พิทช์เบลนด์แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเดียมเพียง 4 เท่า 
เท่านั้น อีกทั้งเรเดียมบริสุทธิ์ยังมีสมบัติสำคัญอีกหลายประการ ได้แก่ สามารถให้แสงสว่าง และความร้อนได้ นอกจากนี้เมื่อเรเดียมแผ่รังสีไปถูกวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตภาพรังสี และสามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกันกับเรเดียม


        ต่อมาในระหว่างที่ปิแอร์ทำการทดลองเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอยู่นี้ บังเอิญรังสีโดนผิวหนังของปิแอร์ ทำให้เกิดอาการปวดแสบ
ปวดร้อนบนผิวหนังบริเวณนั้นอีกทั้งยังมีรอยแดงเกิดขึ้น แม้ปิแอร์จะตกใจเมื่อเห็นเช่นนั้นแต่ด้วยความอยากรู้ เขาจึงทำการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับเรเดียมที่มีผลกระทบต่อผิวหนัง จากการค้นคว้าทดลองปิแอร์สรุปได้ว่าเรเดียมสามารถรักษาโรคผิวหนังและโรคมะเร็งได้ ทั้งสองได้นำผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และจากผลงานชิ้นนี้ทั้งสองได้รับมอบรางวัลจากสมาคม วิทยาศาสตร์หลายแห่ง ได้แก่ เหรียญทองเดวี่ จากราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน และ ค.ศ.1903 ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ รวมกับเบคเคอเรลผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม นอกจากนี้ทั้งสองยังได้รับเงินสนับสนุนจากสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสในการจัดซื้อแร่พิทช์เบลนด์ ซึ่งทั้งสองเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลเหล่านี้เป็นที่สุด เพราะแม้ว่าการแยกแร่เรเดียมออกจากธาตุพิทช์เบลนด์จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลาในการค้นหานานถึง 4 ปี ก็ตาม แต่ทั้งสองก็ไม่ได้นำผลงานชิ้นนี้ไปจดทะเบียนสิทธิบัตร อีกทั้งยังเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ในปี ค.ศ.1906 ปิแอร์ได้ประสบอุบัติเหตุรถชนทำให้เสียชีวิตทันที นำความเศร้าโศกเสียใจมาสู่มารีเป็นอันมาก แต่เธอก็ไม่ได้ละทิ้งการทดลองวิทยาศาสตร์


       ต่อมามหาวิทยาลัยปารีสได้อนุมัติเงินก้อนหนึ่งให้กับมารี ในการจัดสร้างสถาบันเรเดียม พร้อมกับอุปกรณ์อันทันสมัย เพื่อทำ
การทดลองค้นคว้าและแยกธาตุเรเดียม สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป จากการค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1911 มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกครั้งหนึ่งจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากเรเดียมเพิ่มเติม มารีได้ออกแบบสถาบันแห่งนี้ด้วยตัวของเธอเอง สถาบันแห่งนี้สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1914 ถึงแม้ว่าจะมีห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว
แต่ก็มีเหตุที่ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก เพราะได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ทำให้ผู้ช่วยและคนงานที่ทำงานในสถาบันเรเดียม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อเป็นเช่นนั้นมารีจึงสมัครเข้าร่วมกับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บ อีกทั้งยังนำความรู้ไปใช้ในงานครั้งนี้ด้วย เธอจัดตั้งแผนกเอกซเรย์เคลื่อนที่ขึ้น เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตาม หน่วยต่าง ๆ มารีได้รักษาทหารที่บาดเจ็บด้วยรังสีเอกซ์มากกว่า 100,000 คน


         หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง มารีได้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง และผลจากการทดลองค้นคว้าเรเดียมทำให้เธอ
ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของเรเดียม ทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลาย และเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น