ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทิศเหนือติดกับประเทศไทย (จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และลาว (แขวง อัตตะปือและจำปาสัก) ทิศตะวันออกติดเวียดนาม (จังหวัดกอนทูม เปลกู ซาลาย ดั๊กลั๊ก ส่องแบ๋ เตยนิน ลองอาน ด่งท๊าบ อันซาง และเกียงซาง) ทิศตะวันตกติดประเทศไทย (จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด) และทิศใต้ติดอ่าวไทย
พื้นที่ 181,035 ตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศไทย เส้นเขตแดนโดยรอบประเทศยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร โดยมีเส้นเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยยาว 798 กิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงพนมเปญ
ประชากร 14.14 ล้านคน (2553)
ภาษาราชการ ภาษาเขมร
ศาสนา พุทธนิกายเถรวาท
การเมืองการปกครอง
ประมุข พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี (Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni)
ผู้นำรัฐบาล สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีต่างประเทศ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ
ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
เขตการปกครอง ตามกฤษฎีกา ลงนามโดย นรม.กพช. เมื่อ 12 ม.ค. 2552 กำหนดให้มีการแบ่งเขตการปกครอง ดังนี้:แบ่งเป็น 1 ราชธานี (พนมเปญ) และ 23 จังหวัด ได้แก่ กระแจะ เกาะกง กันดาล กัมปงจาม กัมปงชนัง กัมปงธม กัมปง สะปือ กัมปอต ตาแก้ว รัตนคีรี พระวิหาร พระตะบอง โพธิสัต บันเตียเมียนเจย ไปรเวง มณฑลคีรี สตึงเตรง สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัย ไพลิน แกบ และพระสีหนุ และแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์กลางการปกครองเรียกว่า (อำเภอเมือง) เรียกว่า “กรุง” นอกจากนี้ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็น “กรุง” อีก 3 แห่ง คือ กรุงปอยเปต (จ. บันเตียเมียเจย) กรุงบาเว็ต (จ. สวายเรียง) และกรุงสวง (จ.กำปงจาม)
วันชาติ 9 พฤศจิกายน 2496
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 19 ธันวาคม 2493
เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา เรียล (1 บาท ประมาณ 130 เรียล)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 13.16 พันล้าน USD
รายได้ประชาชาติต่อหัว 911.73 USD
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 6.7
สินค้านำเข้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม บุหรี่ ทองคำ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ยานพาหนะ และยา
สินค้าส่งออกสำคัญ เสื้อผ้า สิ่งทอ ไม้ ยางพารา ข้าว ปลา ยาสูบ และรองเท้า
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา
1. ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
•ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศขึ้น ณ กรุงพนมเปญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาเข้าร่วม
•ปัจจุบัน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ คือ นายสมปอง สงวนบรรพ์ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร 3 เหล่าทัพ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (กระทรวงพาณิชย์) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ประจำการอยู่ในกัมพูชาด้วย ในส่วนของกัมพูชา มีนาง You Ay เป็นเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย โดยมีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ และมีสถานกงสุลใหญ่ ประจำจังหวัดสระแก้วด้วย
•กัมพูชาและไทยมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดนที่ใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าปริมาณมาก (สินค้าเกษตร และเครื่องอุปโภคบริโภค) อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาผกผันบ่อยครั้ง สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การเมืองภายใน การปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน และปัญหาเขตแดน
• กัมพูชาเคยประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2501 (สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนในเดือนกุมภาพันธ์ 2502) และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2504 (สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนในปี 2509 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร) โดยทั้ง 2 กรณี มีสาเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร
• นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลง (เหลือเป็นระดับอุปทูต) หลังจากเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 จากกรณีที่มีรายงานข่าวในกัมพูชาว่า นักแสดงชาวไทย (กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง) กล่าวดูหมิ่นชาวกัมพูชา (รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และการเรียกเอกอัครราชทูตฯ (นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย) กลับประเทศ ระหว่างวันที่ 5 พ.ย. 2552 – 24 ส.ค. 2553 หลังจากที่กัมพูชาประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา (ต่อมากัมพูชาออกแถลงการณ์ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2553) ซึ่งฝ่ายกัมพูชาได้เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับกัมพูชาในช่วงเดียวกัน
• ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชากลับคืนสู่ภาวะปกติ
2. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
• กลไกการเจรจาหารือทวิภาคีที่สำคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ ทวิภาคี ไทย-กัมพูชา (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JC) ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการเจรจา/ตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยได้มีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2538 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และครั้งล่าสุด คือ การประชุม JC ครั้งที่ 7 ณ เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ 3 - 4 กุมภาพันธ์ 2554 ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JC ครั้งที่ 8 ในปี 2555 (ในชั้นนี้ กำหนดจัดในช่วงเดือนสิงหาคม ณ กรุงเทพฯ)
• สำหรับการเจรจาหารือเรื่องเขตแดน มีกลไกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา JBC (Joint Boundary Commission) เป็นเวทีหลัก โดยการประชุมครั้งล่าสุด คือ JBC ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2554 ณ กรุงเทพฯ
• นอกจากนี้ ยังมีกลไกความร่วมมือด้านการทหาร โดยมี คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา (General Border Committee - GBC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศเป็นประธาน และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย – กัมพูชา (Regional Border Committee – RBC) ซึ่งมีแม่ทัพของแต่ละภูมิภาคทหารของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน
• ปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชามีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก อย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายกัมพูชาก็ได้แสดงความพร้อมที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับไทยอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการจัดการประชุมทวิภาคีไทย-กัมพูชาที่เป็นกลไกความร่วมมือและเป็นเวทีหารือที่สำคัญระหว่างกันที่หยุดชะงักไปในช่วงที่มีปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน เช่น การประชุม GBC ครั้งที่ 8 (ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554) การประชุม JBC ครั้งที่ 5 (ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2555) เป็นต้น นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2555 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ และได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมและขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน และจำกัดประเด็นที่ยังเป็นปัญหา ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในด้านอื่น ๆ และเมื่อวันที่ 29-30 ธันวาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการด้วย และได้พบหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาด้วย
3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
3.1 การค้า
การค้ารวมระหว่างไทยกัมพูชาปี 2554 มีมูลค่า 93,152.09 ล้านบาท (3,081.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นระยะเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 14.82 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 87,779.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 มูลค่าการนำเข้า 5,372.39 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.8 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 82,407.31 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปกัมพูชา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ
การค้าชายแดน ปี 2554 มีมูลค่า 70,518.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 27.25 เป็นมูลค่าการส่งออก 65,606.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.36 และมูลค่าการนำเข้า 4,912.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.13 ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าชายแดน 60,694.05 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำตาลทราย ยางยานพาหนะ เครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผ้าผืนและด้าย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่น ๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ผักและของปรุงแต่งจากผัก อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เศษกระดาษ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ และเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะสามัญ
3.2 การลงทุน
นับตั้งแต่รัฐบาลกัมพูชาได้มีกฎหมายการลงทุนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2537 จนถึงปี 2554 ประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 6 มีจำนวนเงินลงทุน 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากมาเลเซีย จีน ไต้หวัน เวียดนาม และเกาหลีใต้ ในปี 2551 ไทยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board: CIB) จำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุนมูลค่า 30.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ การผลิตอ้อยและน้ำตาลของกลุ่มบริษัท Thai Beverage ธุรกิจภาคการขนส่งเพื่อสร้างท่าเรือโดยบริษัทในกลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่นของไทย และการลงทุนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เกี่ยวกับโรงพยาบาลนานาชาติในนามบริษัท Phnom Penh Medical Service จำกัด สำหรับปี 2552 ไทยลงทุนเป็นอันดับที่ 6 มีจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุนมูลค่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 2 ของเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด รองจากจีน ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 1 โครงการ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร 3 โครงการ และอุตสาหกรรมผลิตรองเท้า 1 โครงการ ในปี 2553 ไทยมีมูลค่าการลงทุนเป็นอันดับที่ 6 โครงการที่ได้รับอนุมัติมีจำนวน 1 โครงการเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าแปรรูป และในปี 2554 ไม่มีโครงการลงทุนใหม่ ๆ จากประเทศไทย
3.3 การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชาระหว่างเดือนมกราคม - ตุลาคม 2554 มีจำนวนมากเป็นอันดับ 7 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 91,343 คน รองจากเวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ลาวซึ่งมีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 26.45 ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวกัมพูชาได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปี 2554 จำนวน 252,705 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 72.76 โดยมีจำนวน 146,274 คน
4. ความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ
4.1 การเยือนที่สำคัญ
4.1.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญ ในฐานะพระราช
อาคันตุกะของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
- วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนโรงพยาบาลและโรงเรียนในจังหวัดเกาะกง (เสด็จฯ โดยเรือหลวงกระบุรีจากจังหวัดตราด)
- วันที่ 12 - 18 มกราคม พ.ศ. 2536 เสด็จฯ เยือนกัมพูชา เพื่อทอดพระเนตรและศึกษา
สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในกรุงพนมเปญและเมืองเสียมราฐในฐานะพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
- วันที่ 1 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เสด็จฯ นำคณะนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองเสียมราฐ
- วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เสด็จฯ นำคณะนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาปราสาทบันเตียชมาร์ นครวัด นครธมและปราสาทบายน
- วันที่ 7 - 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 เสด็จฯ เยือนจังหวัดเสียมราฐ และจังหวัด กำปงธม เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
- วันที่ 15 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เสด็จฯ นำคณะกรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล เยือนกัมพูชา เพื่อศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ
- วันที่ 16 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญ เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ
- วันที่ 16 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เสด็จฯ เยือนกรุงพนมเปญในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาลกัมพูชา
- วันที่ 21 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เสด็จฯ เยือนกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรโครงการโรงเรียนพระราชทาน (โรงเรียนมัธยมกัมปงเฌอเตียล อำเภอสมโบร์ไพรกุก จังหวัดกัมปงธม)
- วันที่ 9 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เสด็จฯ เยือนกัมพูชา เพื่อพระราชทานโรงเรียนมัธยมกัมปงเชอเตียล อำเภอสมโบร์ไพรกุก จังหวัดกัมปงธม
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- วันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2536 เสด็จฯ เยือนจังหวัดพระตะบองและกรุง
พนมเปญ เพื่อนำคณะแพทย์ไปตรวจรักษาประชาชนชาวกัมพูชา และบรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา
รัฐบาล (ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2552)
นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร)
- วันที่ 18 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2544 เยือนกรุงพนมเปญ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
- วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เยือนกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 1 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8
- วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เยือนเมืองเสียมราฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุม
คณะรัฐมนตรีร่วมไทย – กัมพูชา
- วันที่ 10 สิงหาคม 2549 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
นายกรัฐมนตรี (พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์)
- วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช
-วันที่ 3 – 4 มีนาคม 2551 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- วันที่ 12 มิถุนายน 2552 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
- วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2553 เข้าร่วมการประชุม ACMECS Summit ที่กรุงพนมเปญ
นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
- วันที่ 15 กันยายน 2554 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ (ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง)
- วันที่ 2-4 เมษายน 2555 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 ที่กรุงพนมเปญ
4.1.2 ฝ่ายกัมพูชา
พระราชวงศ์ (ระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2552)
พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา
- วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เสด็จฯ เยือนประเทศไทยเพื่อทรงเข้าร่วมงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัฐบาล (ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - 2552)
นายกรัฐมนตรี (สมเด็จฮุน เซน)
- วันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เยือนจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – กัมพูชา
- วันที่ 13 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2552 เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน
- วันที่ 10 – 12 เมษายน 2552 เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่พัทยา
- วันที่ 23 - 25 ตุลาคม 2552 เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ชะอำ-หัวหิน
5.ความตกลงที่สำคัญระหว่าง ไทย – กัมพูชา
(1) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี
ลงนามเมื่อ 1 มกราคม 2537
(2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ลงนามเมื่อ 29 มีนาคม 2538
(3) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน
ลงนามเมื่อ 29 กันยายน 2538
(4) ความตกลงว่าด้วยการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
ลงนามเมื่อ 20 มิถุนายน 2539
(5) ความตกลงทางวัฒนธรรม
ลงนามเมื่อ 21 มิถุนายน 2540
(6) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปราบปรามการค้ายาเสพติด สารออก
ฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น
ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม 2541
(7) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ลงนามเมื่อ 6 พฤษภาคม 2541
(8) ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนส่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมข้ามแดนและ การส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน 2543
(9) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก
ลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน 2543
(10) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน
ลงนามเมื่อ 18 มิถุนายน 2544
(11) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต
ลงนามเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2544
(12) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาถนนหมายเลข 48 (เกาะกง - สแรอัมเบิล) และถนนหมายเลข 67 (สะงำ - อันลองเวง - เสียมราฐ)
ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546
(13) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้าเด็กและหญิง และการ
ช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์
ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546
(14) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546
(15) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน
ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546
(16) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา
ลงนามเมื่อ 31 พฤษภาคม 2546
(17) พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางราชการ
ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2549
(18) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและกิจการวิทยุกระจายเสียง
และกิจการวิทยุโทรทัศน์ไทย - กัมพูชา
ลงนามเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2549
(19) ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการ
โอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา
ลงนามเมื่อ 5 สิงหาคม 2552